กระเบื้องยอดนิยมยาวนานที่สุดแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
กระเบื้องว่าวนับเป็นกระเบื้องมุงหลังคาที่นิยมกันมายาวนานที่สุดในกรุงรัตนโกสินทร์นับตั้งแต่เริ่มมีการนำมาเผยแพร่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จวบจนปัจจุบัน สถานที่ที่ใช้มุงก็มีนับตั้งแต่ พระราชวัง พระตำหนัก อาคารที่ทำการของทางราชการ วัดวาอาราม อาคารพาณิชย์ บ้านเรือนราษฎร ฯลฯ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ
- รูปร่างของกระเบื้องมีปลายแหลมจึงไม่ต้านลม แต่จะคอย “แยก” และ “ป่วน” กระแสลมที่มาปะทะ เป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้ลมพัดกระแทกต่อเนื่องจนสะสมกลายเป็น “แรงยก” ทำให้กระเบื้องปลิวว่อนไปในที่สุด
- การทับซ้อนของกระเบื้องเกิดจากการเกยกันของกระเบื้อง 3 แผ่น ทับซ้อนกัน 3 ชั้น ซึ่งแตกต่างจากกระเบื้องที่มีรูปร่างเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าทั่วไปที่ทับซ้อนกัน 2 ชั้น
- รอบตัวกระเบื้องว่าว มีคันบังใบทั้งด้านบนและด้านล่างของกระเบื้องที่จะซ้อนทับเหลื่อมกัน เป็นการป้องกันการรั่วซึมของหลังคา หากต้องเผชิญกับภาวะฝนตกหนักและมีลมกรรโชกอย่างรุนแรง
- รูปร่างสีเหลี่ยมขนมเปียกปูน เป็นลักษณะโดดเด่นของกระเบื้องว่าวที่เมื่อมุงบนหลังคาแล้ว สามารถจำแนกได้แต่ไกลว่าเป็นบ้านที่มุงด้วยกระเบื้องว่าว (ดูเพิ่มเติม)