ผู้ผลิตกระเบื้องซีเมนต์ ปูพื้นและมุงหลังคา ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในยุครัตนโกสินทร์มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยเริ่มต้นการผลิตตั้งแต่สมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยได้ไม่นาน (ดูประวัติบริษัท) จนถึงปัจจุบัน

วิวัฒนาการกระเบื้อง ซีเมนต์-คอนกรีต มุงหลังคาของไทย

วัสดุมุงหลังคา

วัสดุที่ใช้มุงหลังคามีหลากหลายในโลกนี้ วัสดุพื้นฐานที่ใช้กันมาแต่โบราณ คือวัสดุธรรมชาติที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่นใบไม้ ใบหญ้า แผ่นหิน แผ่นไม้ ฯลฯ  ในยุคต่อมาก็จะเป็นกระเบื้องดินเผา จวบจนมีการค้นพบวิธีการผลิตปูนซีเมนต์ได้ในเชิงอุตสาหกรรม กระเบื้องที่ทำจากการผสมปูนซิเมนต์กับวัสดุมวลหยาบต่างๆที่หาได้ในพื้นที่เช่น ทราย หิน ดินลูกรัง ฯลฯ จึงได้เกิดขึ้นและใช้กันอย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน

กระเบื้องซีเมนต์มุงหลังคาในยุคต้นของไทย

กระเบื้องมุงหลังคาที่ทำจากปูนซีเมนต์ ประเทศไทยเริ่มมีผลิตใช้กันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยก่อนหน้านั้นกระเบื้องที่ใช้มุงหลังคามักจะเป็นกระเบื้องดินเผาเคลือบสี ผู้นำเอากระเบื้องซีเมนต์มาเผยแพร่ในไทย ตามคำบอกเล่าว่าเป็นชาวอังกฤษ วิธีการทำก็เพียงแต่นำปูนซีเมนต์มาผสมกับทราย เติมน้ำให้พอเปียกแล้วใส่ส่วนผสมลงไปในแม่พิมพ์เหล็ก เกลี่ยให้ทั่วแม่พิมพ์ ตบให้แน่นแล้วจึงปาดเรียบด้วยเหล็กปาด ทิ้งค้างให้แห้งแข็ง ก่อนนำไปใช้งาน

กระเบื้องคอนกรีตมุงหลังคาในยุคปัจจุบัน

กระเบื้องมุงหลังคาที่ผลิตจากส่วนผสมของ ปูนซีเมนต์กับทรายในปัจจุบันนั้น จำแนกตามกระบวนการผลิตได้เป็น 2 ชนิด คือ

  • กระเบื้องคอนกรีตมุงหลังคา ชนิดส่วนผสม ปูนทราย แบบแห้ง

กระเบื้องชนิดนี้ผลิตโดยการนำ ปูน-ทราย มาผสมกัน แล้วผสมน้ำให้พอหมาดๆ ป้อนส่วนผสมลงไปในแม่พิมพ์ ซึ่งแต่ละแผ่นเกาะเกี่ยวเชื่อมโยงกันเป็นขบวนยาว สายพานจะพาแม่พิมพ์วิ่งไปผ่านลูกกลิ้งเพื่อรีดขึ้นรูปตามลอนที่ต้องการ (Extrude) โดยก่อนจะผ่านไปยังลูกกลิ้ง แม่พิมพ์จะถูกสั่นเพื่อให้ ปูน-ทราย อัดเข้าหากัน (Compact) ขั้นตอนสุดท้ายคือการสลัดสีผสมซีเมนต์ลงบนผิวหน้าของกระเบื้อง ข้อดีของการผลิตด้วยวิธีการนี้ก็คือ สามารถผลิตกระเบื้องได้รวดเร็ว ส่วนข้อด้อยคือ ผลิตกระเบื้องได้เฉพาะที่มีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ไม่อาจสร้างคันป้องกันน้ำย้อนบนผิวกระเบื้อง และเนื้อกระเบื้องพรุนมีอัตราการดูดซึมน้ำสูง

  • กระเบื้องคอนกรีตมุงหลังคา ชนิดส่วนผสม ปูนทราย แบบเปียก

ญี่ปุ่นเป็นผู้ริเริ่มผลิตกระเบื้องชนิดนี้ โดยการนำ ปูน-ทราย มาคลุกเคล้าผสมกัน แล้วเติมน้ำในปริมาณที่มากพอที่จะทำให้ส่วนผสมไหลได้ ป้อนส่วนผสมเข้าแบบพิมพ์ อัดขึ้นรูปด้วยเครื่องไฮดรอลิค (Hydraulic) ที่มีแรงอัดไม่ต่ำกว่า 100 ตัน น้ำส่วนเกินที่ช่วยให้กระเบื้องไหลเคลื่อนตัวได้ในแม่พิมพ์จะถูกรีดออกไป  ทิ้งค้างให้แห้งแล้วบ่มให้กระเบื้องแข็งแรงก่อนนำไปผ่านกระบวนการเคลือบสี ข้อดีของการผลิตแบบเปียกนี้ก็คือ จะได้กระเบื้องที่มีเนื้อแน่นอัตราการดูดซึมน้ำต่ำ จึงทำให้กระเบื้องแข็งแรงทนทาน และสามารถออกแบบสร้างคันกันน้ำย้อนขึ้นได้บนผิวกระเบื้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการรั่วซึม นอกจากนี้การอัดกระเบื้องครั้งละแผ่น ทำให้ง่ายต่อการผลิตกระเบื้องได้หลายหลากรูปทรง ส่วนข้อด้อยคือผลิตได้ช้า

รูปแบบของกระเบื้องในยุคต้น 

ในยุคต้นของการผลิตกระเบื้องซีเมนต์ด้วยมือ คือในสมัยรัชกาลที่ 5 กระเบื้องที่ได้รับความนิยมอย่างสูงคือกระเบื้องว่าว ดังจะเห็นได้จากพระราชวังและอาคารต่างๆที่สร้างในยุคนั้น และยุคต่อๆมาเช่น พระราชวังดุสิตซึ่งมีพระที่นั่งและตำหนักรวมกัน 16 หลัง (พระที่นั่งวิมานเมฆนับเป็นพระที่นั่งที่สำคัญที่สุด) พระราชวังพญาไท พระราชวังสนามจันทร์ พระราชนิเวศน์มฤคทัยวัน วังบางขุนพรหม วัดราชาธิวาส ตึกแถวแบบ ซิโน-ปอร์ตุกีส รอบเกาะรัตนโกสินทร์ เลียบถนนเจริญกรุงและในจังหวัดภูเก็ต ตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาล ฯลฯ นอกจากนี้ก็มีกระเบื้องรูปทรงอื่นๆที่คู่กับสถาปัตยกรรมไทย เช่น กระเบื้องลูกฟูกหรือวิบูลย์ศรี กระเบื้องหางแหลมหรือหางเหยี่ยว กระเบื้องเกล็ดปลาหรือหางมน กระเบื้องหม่อมหรือหางตัด ฯลฯ

รูปแบบของกระเบื้องในยุคปัจจุบัน

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 เป็นต้นมา ได้มีการนำกระเบื้องรูปแบบอื่นที่มีการผลิตในประเทศยุโรปมาผลิตด้วยวิธีการผลิตชนิดส่วนผสมแบบแห้งแล้วรีดขึ้นรูป เพื่อผลิตให้ได้ปริมาณมาก (Mass Production) แต่ก็ติดขัดด้วยเงื่อนไขทางการตลาด และต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากในการเปลี่ยนรูปแบบในแต่ละครั้ง ประกอบกับกระเบื้องที่ผลิตแม้จะเปลี่ยนรูปแบบอย่างไร รูปทรงหลักของกระเบื้องก็ยังเหมือนเดิมคือรูป 4 เหลี่ยมผืนผ้า นับเป็นข้อจำกัดในการนำเสนอรูปแบบใหม่ๆที่แปลกตาเข้าสู่ตลาด

อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ผลิตกระเบื้องรายหนึ่งนำรูปแบบกระเบื้องดั้งเดิมที่เคยผลิตกันมาด้วยมือ มาทำการผลิตในระบบส่วนผสมแบบเปียกแล้วอัดด้วยเครื่องอัดไฮดรอลิคแรงอัดสูง เช่น กระเบื้องว่าว กระเบื้องหางมนหรือเกล็ดปลา กระเบื้องหางแหลมหรือหางเหยี่ยว กระเบื้องหม่อมหรือหางตัด ฯลฯ นอกจากนี้ยังได้นำกระเบื้องดั้งเดิมที่มีใช้กันมาในสถาปัตยกรรมไทย มาทำการต่อยอดด้วยการออกแบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณค่าให้กับกระเบื้องต่างๆเหล่านี้โดยยังรักษารูปลักษณ์เดิมของกระเบื้องไว้ เพื่อสานตำนานของกระเบื้องในยุครัตนโกสินทร์