ผู้ผลิตกระเบื้องซีเมนต์ ปูพื้นและมุงหลังคา ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในยุครัตนโกสินทร์มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยเริ่มต้นการผลิตตั้งแต่สมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยได้ไม่นาน (ดูประวัติบริษัท) จนถึงปัจจุบัน

จากการวิเคราะห์พบว่า ฝ้าขาวจะมีองค์ประกอบสำคัญที่อยู่ในรูปของ เกลือหินปูน (CaCo3) ซึ่งมีคุณสมบัติไม่ละลายในน้ำ เกลือหินปูนนี้เกิดขึ้นเนื่องจากเมื่อต้องการนำปูนซีเมนต์มาใช้งาน จำเป็นต้องผสมกับน้ำ ผลก็คือจะเกิดน้ำด่าง [Ca(OH)2]ขึ้นเป็นจำนวนมาก ในขณะปูนแข็งตัวและเริ่มแห้ง น้ำด่าง  [Ca(OH)2] จำนวนนี้ก็พยายามหาทางระเหย โดยผ่านพื้นผิวของผลิตภัณฑ์ที่สัมผัสกับอากาศ แต่เนื่องจากสิ่งที่ระเหยได้คือน้ำ ดังนั้นสิ่งที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลังคือความเป็นด่าง (Alkalinity) ซึ่งเมื่อสัมผัสกับก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์  (CO2)ในอากาศ ก็จะทำปฏิกิริยากันเกิดเป็นเกลือหินปูน [CaCo3]ขึ้น ตามสมการเคมีดังนี้

Ca(OH)2 + CO2 = CaCo3 + H2O

การเกิดของเกลือหินปูน (CaCo3) ในขณะที่ปูนกำลังเริ่มแข็งตัวนี้ เป็นปรากฏการณ์การเกิดฝ้าขาวในปูนขั้นปฐมภูมิ (Primary Efflorescence) แม้ว่าในระยะแรกที่เกิด จะเป็นเกลือหินปูน (CaCo3 )ที่ไม่ละลาย ต่อเมื่อทิ้งให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีต่อเนื่องกับก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 )ในอากาศภายใต้ความชื้นที่เหมาะสมไปสักระยะหนึ่ง ก็จะกลายเป็นเกลือหินปูนไบคาร์บอเนต [Ca(HCo3)2] ซึ่งเป็นเกลือที่สามารถละลายน้ำตามสมการเคมี

CaCo3 + CO2 + H2O = Ca(HCo3)2

อนึ่ง ยังมีการเกิดฝ้าขาวอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ปรากฏการณ์การเกิด ฝ้าขาวในปูนขั้นทุติยภูมิ (Secondary Efflorescence) ซึ่งไม่ใช่จะเกิดเฉพาะกับวัสดุที่ทำจากปูนซิเมนต์ แต่อาจเกิดกับอิฐแดงก่อกำแพง กระเบื้องปูพื้นดินเผา กระเบื้องเซรามิค (Ceramic) หินอ่อน หินธรรมชาติต่างๆ ฯลฯ

โดยมีองค์ประกอบที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังนี้

  • เป็นวัสดุที่มีเกลือที่ละลายน้ำได้ของแคลเซียม (Calcium) โปตัสเซียม (Potassium) แมกนีเซียม (Magnesium) อยู่ในวัสดุนั้นๆ
  • ความชื้นที่อาจจะเกิดจากน้ำฝน น้ำใต้ดิน น้ำท่วม ฯลฯ สามารถแทรกซึมเข้าไปในเนื้อของวัสดุนั้นๆ เพื่อละลายเกลือให้กลายเป็นน้ำด่าง
  • มีจุดที่น้ำด่างสามารถซึมทะลุขึ้นไปบนพื้นผิวเพื่อสะดวกแก่การระเหยของน้ำ โดยอาจเป็นรอยแตกร้าวหรือจุดที่วัสดุมีเนื้อพรุน ฯลฯ

ฝ้าขาวในปูนขั้นทุติยภูมิ (Secondary Efflorescence) นี้จะเกิดกระจายเป็นหย่อมๆเฉพาะจุดเฉพาะที่ จะมีปริมาณมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของเนื้อวัสดุและปริมาณน้ำด่างที่แต่ละจุดอุ้มสะสมไว้